ประเทศจีนมีประวัติศาสตร์ด้านเทคโนโลยีมาอย่างยาวนาน ก่อนศตวรรษที่ 16 จีนเคยเป็นประเทศมหาอำนาจทางเทคโนโลยี เป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมต่างๆ เช่น เข็มทิศ กังหันวิดน้ำพลังลม เป็นต้น ก่อนจะถูกชาติตะวันตกแทนที่ในช่วงหลังศตวรรษที่ 16 เนื่องจากราชวงศ์จีนให้ความสำคัญและส่งเสริมด้านนวัตกรรมไม่มากพอ แต่หลังจากยุคสงครามฝิ่น ประวัติศาสตร์เทคโนโลยีจีนก็เริ่มต้นใหม่อีกครั้งในช่วงปี 1919 นักศึกษาชาวจีนที่กลับมาจากต่างประเทศได้รวมกลุ่มสร้างเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เทคโนโลยีจีนก็มีการเติบโตต่อเนื่องมาตลอด โดยมีปัจจัยส่งเสริมดังนี้
- จีนมีประชากรมากถึง 1.4 พันล้านคน ทำให้บริษัทสตาร์ตอัพจีนสามารถขยายธุรกิจได้ง่าย ซึ่งการเติบโตของบริษัทเทคโนโลยีจะเน้นที่การขยายตัวของผู้ใช้งานเป็นหลัก ยิ่งประเทศมีจำนวนประชากรมาก ก็ยิ่งส่งผลดีต่อธุรกิจ การขยายตลาด และการนำข้อมูลจากการใช้งานจำนวนมหาศาลมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์
- จีนมีงานวิจัยด้านวิทยาศาสต์และเทคโนโลยีมากที่สุดในโลก จากข้อมูลปี 2562 จีนมีจำนวนงานวิจัยถึง 407,181 ชิ้นและมีการนำไปใช้อ้างอิงมากถึง 26.6% ในขณะที่สหรัฐฯ ตามมาเป็นอันดับ 2 ด้วยจำนวนงานวิจัย 293,434 ชิ้น และมีการนำไปใช้อ้างอิงอยู่ที่ 21.1%
- รัฐบาลจีนสนับสนุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอย่างชัดเจนผ่านแผนพัฒนาประเทศ 5 ปี ฉบับที่ 14 เช่น เพิ่มอัตราการขยายตัวของงบประมาณวิจัยและพัฒนา การสร้างศูนย์วิจัย การขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมดิจิดัล รวมไปถึงนโยบาย Made in China 2025 เพื่อส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมอัจฉริยะในหลากหลายอุตสาหกรรม
- จีนมีประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตในปี 2564 อยู่ที่ 1,032 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากตัวเลขในปี 2560 ที่ 772 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 8% ต่อปี ซึ่งคาดว่าจะเติบโตได้ต่อเนื่อง ขณะเดียวกันจีนก็มีจำนวนผู้ใช้งานสมาร์ตโฟน 953 ล้านคน โดยสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ในตลาดมีถึง 85% ที่รองรับเทคโนโลยี 5G ปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่มีโครงข่ายสัญญาณ 5G มากที่สุดในโลกที่ 2 ล้านเสาสัญญาณ